วันพุธที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2552

แก้ปัญหา 5 เรื่องน่าเบื่อ ในห้องน้ำ


แก้ปัญหา 5 เรื่องน่าเบื่อ ในห้องน้ำ
ห้องน้ำเป็นห้องที่สำคัญห้องหนึ่งของบ้าน และมักมีปัญหามากที่สุด เพราะมีเรื่องของงานระบบเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย บ้านและสวนจึงรวบรวมปัญหาน่าเบื่อที่พบบ่อยๆ พร้อมวิธีแก้ไข เพื่อให้คุณได้มีความสุขกับการใช้ห้องน้ำให้สมกับเป็น “ห้องสุขา” ของทุกคนในบ้าน

1.สุขภัณฑ์ ไม่สะดวกต่อการใช้งาน
ปัญหาที่พบ เช่น การวางสุขภัณฑ์ผิดตำแหน่งทำให้ใช้งานไม่สะดวก พื้นที่ใช้งานคับแคบ ในส่วนนี้ ควรคำนึงถึงการจัดแปลนที่ถูกต้องและการเตรียมขนาดพื้นที่ที่เหมาะสมกับการติดตั้งสุขภัณฑ์แต่ละชนิด ซึ่งควรเริ่มทำตั้งแต่การออกแบบ หากวางผังหรือกำหนดพื้นที่ติดตั้งสุขภัณฑ์ไม่เหมาะสม การแก้ปัญหาในภายหลังก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะต้องรื้อระบบท่อต่างๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างหากต้องมีการสกัดเจาะ

2.โถสุขภัณฑ์ชำระล้างไม่ลง
มีหลายสาเหตุด้วยกัน อาทิ
ระดับน้ำในถังพักต่ำกว่าระดับมาตรฐาน การแก้ไขให้ปรับแต่งลูกลอยตามคำแนะนำของอุปกรณ์รุ่นนั้นๆ หรือ ปรับระดับน้ำให้สูงประมาณหนึ่งนิ้วจากขอบบนท่อน้ำล้น

การอุดตันที่คอห่านและช่องระบาย เมื่อเริ่มระบายได้ช้าลงหรือระบายไม่ได้ต้องรีบจัดการทันที สำหรับกรณีที่ปริมาณสิ่งปฏิกูลในบ่อเกรอะมีมากเกินไป หรือที่เราเรียกว่า “ส้วมเต็ม” ให้ติดต่อหน่วยบริการเพื่อมาสูบถ่ายสิ่งปฏิกูลออกไป ส่วนกรณีที่เกิดการอุดตันชั่วคราวอันเนื่องมาจากการใส่วัสดุที่ไม่พึงประสงค์ลงไป ให้ใช้ถ้วยยางอัดลมหรือสว่านไชคอห่านจัดการได้

ไม่ได้ติดตั้งท่อระบายอากาศ หรือท่อระบายอากาศมีขนาดเล็กเกินไป ให้ตรวจสอบและติดตั้งตามคำแนะนำของผู้ผลิต โดยปกติท่อระบายอากาศควรมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 1.5 นิ้ว และแยกออกจากท่อน้ำทิ้งของโถสุขภัณฑ์โดยตรง

3.กลิ่นไม่พึงประสงค์
ปัญหานี้มักเกิดจากความเปียกชื้นซึ่งไม่สามารถระบายออกได้หรือระบายไม่ทัน และการที่แสงแดดส่องถึงได้ยาก โดยเฉพาะห้องน้ำที่อยู่ใต้บันไดของตึกแถวหรือทาวน์เฮาส์ซึ่งเป็นห้องติดกัน วิธีแก้ปัญหา ให้เจาะช่องระบายอากาศหรือทำช่องแสง เพื่อให้ห้องสว่างขึ้น (อาจติดตั้งกลาสบล็อกหรือ ติดบานกระจกฝ้าก็ได้) และทำประตูห้องน้ำเป็นบานเกล็ดตลอดแนว เพื่อให้ลมผ่านเข้าสู่ห้องน้ำได้สะดวก

ที่สำคัญควรติดตั้งพัดลมระบายอากาศ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ห้องไม่มีกลิ่นอับแล้ว ยังช่วยให้กลิ่นไม่พึงประสงค์ต่างๆ หลังการใช้ห้องน้ำหายไปอีกด้วย นอกจากนี้กลิ่นที่เกิดจากระดับน้ำที่คอโถ สุขภัณฑ์ท่วมไม่พอ เป็นสาเหตุให้กลิ่นย้อนขึ้นมา ให้ตรวจที่ระดับลูกลอยในโถเก็บน้ำ อาจมีปัญหาทำให้น้ำไม่พอตามปริมาณที่กำหนด หรือปัญหาวาล์วปล่อยน้ำเข้าโถชำรุด ทำให้น้ำไหลเข้าไม่พอก็เป็นได้

4.ท่อระบายน้ำทิ้งอุดตันการอุดตันของท่อระบายน้ำเสีย ไม่ว่าจะเป็น น้ำทิ้งจากอ่างล้างหน้า อ่างล้างจาน โถสุขภัณฑ์ เราสามารถแก้ไขได้หลายวิธี อาทิ การทำความสะอาดด้วยการถอดท่อดักกลิ่น การใช้ถ้วยยางอัดลม สว่านไชคอห่านหรือ “งูเหล็ก” รวมถึงการใช้สารเคมีกำจัดสิ่งอุดตันให้หลุดออกไป แต่พึงระลึกไว้เสมอว่า สารกำจัดสิ่งอุดตันโดยเฉพาะเกล็ดโซดาไฟ มีฤทธิ์ค่อนข้างรุนแรง อาจจะกัดท่อจนได้รับความเสียหาย แต่ถ้ามีความจำเป็นจริงๆ (เนื่องจาก ใช้วิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล) ก็ควรปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

5.น้ำรั่วน้ำซึม
ในที่นี้จะกล่าวถึงการรั่วซึมของงานระบบท่อ ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ ดังนี้
ระบบน้ำดี หรือน้ำประปาที่เรานำมาใช้ ส่วนนี้มักไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องท่อตัน เนื่องจากมีแรงดันท่อทำให้น้ำไหลออกมาเมื่อเปิดใช้ แต่ปัญหาที่พบบ่อยๆ คือการรั่วซึมตามรอยต่อต่างๆ เมื่อกาวต่อท่อพีวีซีเสื่อมสภาพ

ระบบน้ำทิ้ง คือท่อระบายน้ำ ที่ใช้แล้ว ซึ่งมักมีเศษสิ่งปฏิกูลต่างๆ เช่น คราบสบู่ เส้นผม กระดาษชำระ ฝุ่นผง รวมทั้งเศษตะกอนต่างๆ ที่มากับน้ำ วิธีสังเกตง่ายๆ เมื่อเกิดการอุดตันคือ เมื่อใช้งาน น้ำจะระบายออกได้ช้า ควรแก้ไข ด้วยการถอดข้อต่อท่อออกมาทำความสะอาดและหมั่นดูแลรักษาบ่อยๆ นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นๆ อีก เช่น การใช้ท่อระบายน้ำที่มีขนาดไม่ได้มาตรฐาน

โดยทั่วไปท่อน้ำทิ้งควรมีขนาดไม่ต่ำกว่า 2.5 นิ้ว ท่อโสโครกควรใช้ขนาด 4 นิ้ว ควรเดินท่อให้ลาดเอียงตามมาตรฐานที่กำหนดเป็นอย่างน้อย ยิ่งลาดเอียงได้มาก การอุดตันจะยิ่งน้อยลง และที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ ต้องมีช่วงต่อหักงอให้น้อยที่สุดใน จุดที่อาจเกิดการรั่วซึม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น